Property Insight

วางแผนการเงินให้รัดกุม
เมื่อคุณต้องผ่อนคอนโด

February 18, 2019

     เมื่อทำงานมาได้สักระยะหนึ่ง คนทำงานก็มักจะคิดถึงการสร้างหลักฐานที่มั่นคงให้กับตัวเอง ซึ่งการซื้อคอนโดเป็นของตัวเอง ถือเป็นเป้าหมายการสร้างความความมั่นคงให้กับชีวิตเป็นอันดับต้น ๆ ซึ่งการจะผ่อนคอนโดสักห้องหนึ่งแม้ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปได้ยาก แต่สำหรับคนทำงานกินเงินเดือนทั่วไป ก็คงต้องมีการวางแผนการเงินให้รัดกุมพอสมควร

     ก่อนอื่นอาจจะต้องเช็คความพร้อมทางการเงินของตัวเองเสียก่อน ว่ามีความพร้อมมากน้อยแค่ไหนถ้าจะลงทุนซื้อคอนโด โดยสามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยการนำรายได้ประจำ ที่ได้รับในแต่ละเดือนมาคูณ 50 เท่า ผลลัพธ์ที่ได้จะออกมาเป็นราคาคอนโดมิเนียมที่คุณมีความสามารถในการซื้อได้ เช่น หากมีรายได้ต่อเดือน 20,000 บาท ความสามารถในการซื้อคอนโดจะอยู่ที่ราคาประมาณไม่เกิน 1,000,000 เป็นต้น

Content-960-x-504-1.jpg
     เมื่อได้ตัวเลขของเงินก้อนแบบคร่าว ๆ แล้ว เราก็มาดูที่ค่าใช้จ่ายประจำในแต่ละเดือน เช่น ค่าบัตรเครดิต, ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หรือค่าผ่อนรถ ฯลฯ เพื่อดูว่าจะมีความสามารถในการผ่อนชำระคอนโดในแต่ละเดือนได้ประมาณไหน ตามหลักการแล้วการซื้อคอนโดผ่อน ควรจ่ายต่องวดที่ประมาณ 1 ใน 3 ของรายได้ เรื่องเงินดาวน์ก็เป็นอีกส่วนที่ต้องมีการวางแผนการเงินให้รัดกุม เพราะจะต้องมีการวางเงินดาวน์ประมาณ 10-15% และการวางเงินดาวน์ยิ่งมากก็ยิ่งดี

     ด้วยวิธีการคิดนี้ คงทำให้เห็นแล้วว่าการจะซื้อคอนโด จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องมีการวางแผนทางการเงินอย่างเป็นระบบ และถ้าใครยังนึกไม่ออกว่าจะเริ่มต้นบริหารการเงินของตัวเองอย่างไรดี วิธีบริหารการเงินแบบ 6 Jars System of Money Management ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นวิธีบริหารการเงินที่มีประสิทธิภาพ คิดค้นโดย T. Harv Eker นักพูดและนักคิดทางด้านการเงินการลงทุน ผู้เขียนหนังสือ Secret of the Millionaire Mind น่าจะช่วยคุณได้

Content-960-x-504-2.jpg
ทฤษฎีการบริหารการเงินแบบ 6 Jars

มีเคล็ดลับสำคัญที่การแบ่งรายได้ที่ได้รับต่อเดือน ออกเป็น 6 ส่วน ดังนี้

     1. เงินค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน (Necessities Account) 55% เงินส่วนนี้คือค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตของเราทั้งหมด เช่น ค่าอาหาร, ค่าน้ำค่าไฟ, ค่าโทรศัพท์, ค่าอินเตอร์เน็ต, ค่าเดินทาง ฯลฯ

     2. เงินที่มาตอบสนองความสุขให้กับตัวเอง หรือเงินสำหรับให้รางวัลกับตัวเอง (Play) 10% เหน็ดเหนื่อยมาทั้งเดือน ควรมีรางวัลให้ตัวเองบ้าง การกันเงินส่วนนี้ไว้อย่างชัดเจน ช่วยให้คุณไม่รู้สึกผิดเวลาใช้ และยังไม่ทำให้เพลิดเพลินจนเกินตัว
     3. เงินลงทุน (Financial Freedom Account) 10% ปัจจุบันการลงทุนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นการนำเงินเก็บไปสร้างรายได้ให้งอกเงย เงินส่วนนี้คุณจะนำไปลงทุนอะไรก็ได้ที่เห็นว่าเหมาะสม เช่น บัญชีเงินฝากดอกเบี้ยสูง, กองทุน, หุ้น, ประกันสะสมทรัพย์ ฯลฯ
     4.เงินเพื่อการศึกษา (Education Account) 10% เป็นการลงทุนเพื่อการพัฒนาตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ให้ผลคุ้มค่ามาก เพราะเมื่อคุณพัฒนาทักษะความรู้เพิ่มเติมอยู่เรื่อย ๆ ก็จะกลายเป็นสินทรัพย์ที่มาสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับตัวเองได้
     5. เงินออมระยะยาว (Long-term Saving for spending Account) 10% เงินส่วนนี้จะเรียกว่าเป็นเงินสร้างฝันใหญ่ให้กับตัวเองก็ได้ ซึ่งส่วนนี้จะเก็บออมไว้สำหรับการใช้จ่ายก้อนใหญ่ เช่น ซื้อบ้าน, ซื้อคอนโด, วางแผนแต่งงาน, ไปเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งเงินส่วนนี้จะต้องสามารถนำมาใช้ได้ทันทีที่ต้องการ เพื่อไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินใครให้เป็นภาระ โดยอาจเก็บไว้ในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง หรือที่มีความมั่นคงของเงินต้นสูง เช่น ตราสารเงิน หรือเงินฝาก
     6.เงินสำหรับการแบ่งปัน (Give) 5%  เงินส่วนนี้จะเป็นส่วนที่ให้ หรือแบ่งปันกับผู้อื่น เช่น การบริจาค, ทำบุญ, ช่วยเหลือญาติพี่น้องเพื่อนฝูง, มูลนิธิต่าง ๆ โดยที่เราจะไม่เดือนร้อนในภายหลัง

Content-960-x-504-3.jpg
     ทั้ง 6 ส่วนนี้คุณอาจจะใช้วิธีเปิดบัญชีแยกกันไปเลย ก็จะสะดวกในการตรวจเช็คดี  ซึ่งนับเป็นวิธีการวางแผนการเงินที่ไม่ได้มีความซับซ้อนแต่ประการใด ดังนั้นไม่ว่าใครก็สามารถทำตามทฤษฎีนี้ได้ เพียงแต่คุณต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน มุ่งมั่น และทำอย่างมีวินัย ช่วงแรก ๆ อาจจะมีติดขัดบ้าง แต่ผ่านไปสักพัก คุณจะมีระบบระเบียบในการใช้เงินมากขึ้น ทำให้การมีคอนโดมิเนียมเป็นของตัวเองไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป