Lifestyle & Inspiration

หลักจิตวิทยากับการเลือกโทนสีแต่งห้อง

November 2, 2018

ทราบไหมว่าตามหลักจิตวิทยา สีมีอิทธิพลต่ออารมณ์ ความรู้สึก ฮอร์โมน กระทั่งระบบภายในของเราด้วย เช่น การที่เรามองดูสีแดง จะทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้น ส่งผลต่อการเพิ่มระดับอะดรีนาลีนที่ถูกสูบฉีดไปในกระแสเลือด หรือเมื่อเห็นสีเหลือง คนจะนึกถึงพระอาทิตย์ ดอกไม้บาน ความสดใสมีชีวิตชีวา สีเหลืองจึงเป็นสีที่สื่อถึงความสุขได้ดีที่สุด เป็นเหตุให้ดินสอสีเหลืองขายดีถึง 75% ในอเมริกา

ความรู้เกี่ยวกับอิทธิพลสีต่ออารมณ์คน ถูกแบรนด์ดัง ๆ นำไปใช้อย่างได้ผลดี เช่น ไก่ทอดแบรนด์ดังนำสีแดงไปใช้เป็นสีหลัก เนื่องจากสีแดงกระตุ้นให้คนอยากอาหารมากที่สุด หรือร้านกาแฟดัง ที่เลือกใช้สีเขียว เพราะอยากให้ลูกค้ารู้สึกผ่อนคลาย เป็นการเชิญชวนให้นั่งลงจิบกาแฟสบาย ๆ ในร้าน นี่คือตัวอย่างการนำหลักจิตวิทยาที่เกี่ยวกับสีมาใช้ประโยชน์ และถ้าคุณอยากเลือกโทนสีห้องโดยยึดโยงเข้ากับเรื่องนี้ มาทำความเข้าใจเรื่องสีห้องกับหลักจิตวิทยากัน

โทนสีห้องกับหลักจิตวิทยาแบ่งออกเป็นกลุ่มได้ดังนี้

181101-MDE_Blog_Oct_Content_8_Content-960-x-504-2.jpg
1. สีโทนร้อน (
Warm Colors)

ได้แก่ สีเหลือง สีส้ม สีแดง สีม่วงแดง ซึ่งถ้าหากเป็นสีโทนร้อนที่ค่อนข้างสด จะให้ความรู้สึกมีชีวิตชีวา ดึงดูดความสนใจ กระตุ้นความอยากอาหาร จึงเหมาะกับห้องรับแขก และห้องรับประทานอาหาร หากเป็นสีโทนร้อนที่ไม่จัดจ้าน เช่น สีเหลืองอ่อน สีส้มอ่อน สีพีช จะให้ความรู้สึกอบอุ่นเป็นกันเอง สามารถนำไปใช้ได้กับทุกห้อง


181101-MDE_Blog_Oct_Content_8_Content-960-x-504-2.jpg
2. สีโทนเย็น (
Cool Colors)

ได้แก่ สีเขียวเหลือง สีเขียว สีน้ำเงิน สีม่วงอมน้ำเงิน ม่วงอ่อน สีฟ้า เป็นโทนสีที่ให้ความรู้สึกเย็นตา ผ่อนคลาย สดชื่น หากอยากเลือกโทนสีห้องที่ให้อารมณ์เช่นนี้ ให้เลือกสีโทนเย็น และแนะนำให้ใช้โทนสีนี้ในห้องนอน ห้องรับแขก ห้องน้ำ หากเป็นสีโทนเย็นที่ค่อนข้างเข้ม อย่างน้ำเงินเข้ม ม่วงเข้ม จะให้ความรู้สึกน่าเชื่อถือ สุขุม มีสมาธิ จึงเหมาะกับห้องทำงาน หรือห้องรับแขกที่ต้องการสร้างภาพลักษณ์ให้ดูน่าเชื่อถือ


181101-MDE_Blog_Oct_Content_8_Content-960-x-504-3.jpg
3. สีกลาง (
Neutral Colors)

หมายถึง สีที่ไม่ได้อยู่โทนเย็นหรือโทนร้อน เช่น สีขาว ดำ เทา น้ำตาล เบจ ครีม แต่เป็นโทนสีกลาง ๆ ที่ให้ความรู้สึกเรียบง่าย สบายตา จึงเหมาะกับทุกห้องของคุณ เพียงแต่การเลือกโทนสีห้องที่มีความเข้ม อย่าง ดำ น้ำตาล ควรมีการใช้โดยการจับคู่กับสีอ่อน เพราะถ้าเลือกใช้แบบสีเดี่ยวจะทำให้ห้องดูแคบและทึบจนเกินไป

4. สีพาสเทล (Pastel Colors)

คือ แม่สีที่นำมาผสมกับสีขาวเพื่อลดทอนความเข้มของสีลง ช่วยให้ดูซอท์ฟ สบายตาขึ้น ทั้งยังให้อารมณ์หวาน โรแมนติก เช่น สีเขียวมิ้นท์ ชมพูอ่อนพาสเทล ฟ้าอ่อน ม่วงอ่อน จึงสามารถนำไปใช้ได้กับทุกห้องที่ต้องการอารมณ์นุ่มนวลอ่อนหวาน สบายตาสบายใจ ซึ่งสาว ๆ ที่นิยมสไตล์วินเทจก็มักเลือกโทนสีห้องด้วยสีพาสเทลเช่นกัน

5. สีเอกรงค์ (
Monochromes)

เป็นหลักการเลือกโทนสีห้องเพียงสีเดียว แต่สร้างมิติและมุมมองที่น่าสนใจด้วยการไล่น้ำหนักสีเข้มอ่อนหรือร้อนเย็น เช่น ดำ-เทา-ขาว, น้ำเงิน-ฟ้า-ขาว, เหลือง-เหลืองเขียว-เขียวมิ้นต์ ฯลฯ ซึ่งนับเป็นการสร้างความแตกต่างด้วยสีได้เป็นอย่างดี ใช้ได้กับทุกห้องที่คุณต้องการ

6. สีตรงข้าม (Contrast)

เป็นการนำสีที่อยู่ฝั่งตรงข้ามของวงจรสีมาใช้ร่วมกัน เช่น แดง-เขียว, น้ำเงิน-ส้ม, ฟ้า-ม่วง ส่วนใหญ่นิยมใช้สีตรงข้ามในสัดส่วน 70:30 หรือ 80:20 ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่สีจะออกมาดูดีที่สุด การเลือกโทนสีห้องแบบนี้ให้ความรู้สึกตื่นตาตื่นใจ มีบรรยากาศสดใสร่าเริง มีความคิดสร้างสรรค์ จึงน่าจะเหมาะกับห้องเด็ก ห้องทำงานที่ต้องการความครีเอทีฟ และห้องรับแขก

ทั้ง 6 โทนสีที่นำเสนอนี้ เป็นโทนสีตามหลักจิตวิทยาที่สามารถกระตุ้นให้คุณเกิดความรู้สึกต่าง ๆ ตามสีสันที่ได้เห็น ดังนั้น ถ้าคิดอยากให้ห้องของคุณสร้างความรู้สึกอย่างไร เลือกสีห้องกับหลักจิตวิทยา แล้วนำไปใช้ในการตกแต่งดู เชื่อว่าคุณจะรับรู้ถึงความรู้สึกนั้นได้ด้วยตัวเอง